ภาควิชาการจัดการป่าไม้ (Department of Forest Management)

ให้การศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการจัดการ และการวางโครงการป่าไม้ของประเทศ หลักของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การคณิตป่าไม้ เศรษฐศาสตร์ป่าไม้ การแปลและการทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อการวางแผนการจัดการป่าไม้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการป่าไม้ในมิติใหม่ที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นตามหลักวิชาวนศาสตร์ชุมชน จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สามารถแบ่งกลุ่มวิชาออกได้เป็น 6 กลุ่มวิชาคือ

นโยบายและการบริหารทรัพยากรป่าไม้ (Forest Policy and Administration): ศึกษานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การกำหนดนโยบายระดับบริหารและปฏิบัติการ

ชีวมิติป่าไม้ (Forest Biometry): ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์เทคนิคเชิงปริมาณ ระเบียบวิธีทางสถิติและคณิตศาสตร์ สำหรับศึกษาวิจัยและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

การสำรวจระยะไกล
(Remote Sensing): ศึกษาเกี่ยวกับภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม รวมทั้งการประยุกต์ใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกลเพื่อการวางแผนและจัดการทรัพยากรป่าไม้

เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรป่าไม้
(Forest Resource Economics): ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์หลักเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจป่าไม้ การประเมินค่าป่าไม้ การตลาดและการจัดการธุรกิจป่าไม้

การสำรวจและระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้
(Forest Inventory and Forest Resource Information System): ศึกษาเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ การประมวลผลข้อมูลและการวางระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการวางแผนจัดการทรัพยากรป่าไม้

การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านทรัพยากรป่าไม้
(Forest Extension and Public Relations in Forest Resource): ศึกษาเกี่ยวกับหลักการและวิธีการในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เพื่อนำความรู้และหลักการเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ ออกเผยแพร่สู่สังคม

เพื่อสนับสนุนการเรียน การสอนและการวิจัยในทั้ง
6 กลุ่มวิชา ภาควิชาฯ ได้จัดปรับปรุงพัฒนาห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน อาทิเช่น ห้องบรรยาย 208 ซึ่งสามารถจุนิสิตได้ราว 100 คน, ห้องปฏิบัติการภาพถ่ายทางอากาศ, ห้องปฏิบัติการสำรวจระยะไกล, ห้องปฏิบัติการวนศาสตร์ชุมชน, ห้องปฏิบัติการการเจริญเติบโตและผลิตป่าไม้

นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่นิสิตได้รับจากคณาจารย์ในห้องเรียนแล้ว นิสิตยังมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้จริงในพื้นที่ อาทิวิชา การคณิตป่าไม้ภาคสนาม, การสำรวจทรัพยากรป่าไม้ภาคสนาม ฯลฯ